08 กันยายน 2552

16. เขื่อนห้วยหลวง

สถานที่ตั้ง : อ. กุดจับ จ. อุดรธานี


ลักษณะเขื่อน
เป็นเขื่อนดิน สูง 12.50 เมตร สันเขื่อน ยาว 4.9 กิโเมตร เก็บน้ำได้ 113 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ 161 ล้านลูกบาศก์เมตร
เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2513 ตัวเขื่อนสร้างเสร็จ พ.ศ. 2522 งานระบบส่งน้ำเสร็จ พ.ศ. 2527 วัตถุประสงค์สร้างเพื่อการชลประทาน สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่ชลประทานจำนวน 94,830 ไร่ในฤดูฝน และ 30,000 ไร่ ในฤดูแล้ง และยังเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับใช้ผลิตน้ำประปาในจังหวัดอุดรธานี การประปาอำเภอหนองวัวซอ และการประปาอำเภอกุดจับ
ประโยชน์ที่ได้รับ
เป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อชลประทานเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ผลิตน้ำประปา
เป็นแหล่งประมงน้ำจืด เป็นแหล่งอาหาร สร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่น
ช่วยบรรเทาอุทักภัยในฤดูน้ำหลากไม่ให้น้ำไหลท่วมตัวเมืองอุดร ตัวเมืองอุดรเป็นแอ่งที่ราบท้องกะทะ เมื่อฝนตกต่อเนื่องหากน้ำไหลท่วมตัวเมืองจะสร้างความเสียหายมหาศาลอย่างที่เคยเกิด เขื่อนห้วยหลวงช่วยป้องกันและบรรเทาอุทกภัยได้อย่างมาก

15 เขื่อนสิรินธร

เขื่อนสิรินธร เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่มีความสำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากจะให้ประโยชน์ทางด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังอำนวยประโยชน์นานัปการต่อการพัฒนา ชีวิตความเป็นอยู่ ของประชาชนในภูมิภาคแถบนี้ทั้งทางด้านการชลประทาน การป้องกันอุทกภัย การประมง และการท่องเที่ยว นับเป็นการสงวนและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ในประเทศให้เกิดประโยชน์ สูงสุดอย่างสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในยุคปัจจุบัน

14. เขื่อนจุฬาภรณ์

เขื่อนจุฬาภรณ์ หรือ เขื่อนน้ำพรม ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ปิดกั้นลำน้ำพรมบนเทือกเขาขุนพาย ลักษณะเขื่อนเป็นเขื่อนหินทิ้ง แกนเป็นดินเหนียว สันเขื่อนยาว 700 เมตร ความสูงจากฐานราก 70 เมตร เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ ใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า การชลประทาน และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด ภายในบริเวณมีบ้านพักรับรองและเรือเช่าล่องชมทิวทัศน์อ่างเก็บน้ำ

13. เขื่อนอุบลรัตน์

เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของประเทศไทย ซึ่งสร้างขึ้นถัดจากเขื่อนภูมิพล และเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ปิดกั้นแม่น้ำพองสาขาย่อยของแม่น้ำชี ตัวเขื่อนเป็นหินถมแกนดินเหนียว ยาว 885 เมตร สูง 32 เมตร สันเขื่อนกว้าง 6 เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุ 2,263 ล้านลูกบาศก์เมตร ผลิตไฟฟ้าได้ 55 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง

12. เขื่อนกิ่วลม

เขื่อนกิ่วลม เป็นเขื่อนในการดูแลของกรมชลประทาน ตั้งห่างจากตัวเมืองไปตามเส้นทางสายลำปาง-งาว ประมาณ 38 กิโลเมตรเศษ แยกซ้ายกิโลเมตรที่ 623 เข้า ไปอีก 14 กิโลเมตร

เขื่อนกิ่วลมขณะก่อสร้างถูกใช้เป็นฉากของเรื่องสั้นชุดชาวเขื่อนโดย มนันยา มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับชีวิตของข้าราชการกรมชลประทานและเหล่าคนงานก่อสร้าง เธอได้รับแรงบันดาลใจในการแต่งจากการติดตามสามีของเธอที่เป็นหนึ่งในข้าราชการควบคุมการก่อสร้าง เรื่องสั้นถูกตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร สตรีสาร และต่อมาได้มีการรวมเล่มเป็นหนังสือ 3 เล่ม ในชื่อ
ชาวเขื่อน
เอ แมน คอลด์ เป๋ง
ลาก่อนกิ่วลม

11. เขื่อนแม่กวง


เขื่อนแม่กวงอุดมธารา


เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นเขื่อนดินถมบดอัดแน่น สูง 68 เมตร สันเขื่อนยาว 610 เมตร สร้างปิดกั้นลำน้ำแม่กวง นอกจากนั้นยังได้ก่อสร้างเขื่อนดินปิดช่องเขาขาดด้านฝั่งขวาสูง 42 เมตร สันเขื่อนยาว 640 เมตร และ เขื่อนดินปิดช่องเขาขาดด้านฝั่งซ้ายอีกแห่งหนึ่งสูง 54 เมตร สันเขื่อนยาว 655 เมตร สามารถเก็บกักน้ำในอ่างด้านเหนือเขื่อนได้ประมาณ 263 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ 186 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก 13 ตำบล ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูนประมาณ 175,000 ไร่
เกิดจากแผนพัฒนางานชลประทานในลุ่มน้ำแม่กวง ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2472 โดยได้ก่อสร้างฝายผาแตก ขึ้นที่ดอยลอง บ้านผาแตก เมื่อ พ.ศ. 2478 ต่อมากรมชลประทานได้ปรับปรุงฝายใหม่ สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกได้ 72,750 ไร่
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรบริเวณที่จะก่อสร้างเขื่อนแม่กวงอุดมธาราแห่งนี้ ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทาน ศึกษาการพัฒนาลำน้ำสาขาของลำน้ำแม่กวง และจัดหาที่ดินทำกินใหม่ให้แก่ราษฎร ซึ่งพื้นที่ทำกินดังกล่าวจะถูกน้ำท่วมหลังการก่อสร้างเขื่อน
คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กรมชลประทานเริ่มงานเบื้องต้น เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 กรมชลประทานจึงได้ขอความช่วยเหลือกู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการศึกษาโครงการออกแบบและก่อสร้าง และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กรมชลประทานก่อสร้างเขื่อนแม่กวงอุดมธาราเมื่อ พ.ศ.2529 งานก่อสร้างตัวเขื่อนและอาคารประกอบจึงได้เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2531 และเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการใน พ.ศ. 2536
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ เขื่อนเก็บกักน้ำโครงการชลประทานแม่กวงให้กับกรมชลประทาน ทรงพระราชทานชื่อ ว่า “ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา” เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538

10. เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล


เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เดิมชื่อว่า เขื่อนแม่งัด ตั้งอยู่บนลำน้ำแม่งัด สาขาแม่น้ำปิง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

ประเภทเขื่อน เขื่อนดิน (Earthfill Dam)
ตัวเขื่อน สร้างปิดกั้นลำน้ำแม่งัด ที่บ้านใหม่ ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ลักษณะเขื่อน เขื่อนแม่งัดเป็นเขื่อนดินถม สูง 59 เมตร ยาว 1,950 เมตร อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ 16 ตารางกิโลเมตร สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 265 ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนแม่งัดเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยกรมชลประทาน การก่อสร้างตัวเขื่อนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2527 ต่อมา กฟผ. ได้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ในปี พ.ศ. 2528 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2528 ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 4,500 กิโลวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 9,000 กิโลวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ 19 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเขื่อนว่า เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2529 และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529