08 กันยายน 2552

16. เขื่อนห้วยหลวง

สถานที่ตั้ง : อ. กุดจับ จ. อุดรธานี


ลักษณะเขื่อน
เป็นเขื่อนดิน สูง 12.50 เมตร สันเขื่อน ยาว 4.9 กิโเมตร เก็บน้ำได้ 113 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ 161 ล้านลูกบาศก์เมตร
เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2513 ตัวเขื่อนสร้างเสร็จ พ.ศ. 2522 งานระบบส่งน้ำเสร็จ พ.ศ. 2527 วัตถุประสงค์สร้างเพื่อการชลประทาน สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่ชลประทานจำนวน 94,830 ไร่ในฤดูฝน และ 30,000 ไร่ ในฤดูแล้ง และยังเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับใช้ผลิตน้ำประปาในจังหวัดอุดรธานี การประปาอำเภอหนองวัวซอ และการประปาอำเภอกุดจับ
ประโยชน์ที่ได้รับ
เป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อชลประทานเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ผลิตน้ำประปา
เป็นแหล่งประมงน้ำจืด เป็นแหล่งอาหาร สร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่น
ช่วยบรรเทาอุทักภัยในฤดูน้ำหลากไม่ให้น้ำไหลท่วมตัวเมืองอุดร ตัวเมืองอุดรเป็นแอ่งที่ราบท้องกะทะ เมื่อฝนตกต่อเนื่องหากน้ำไหลท่วมตัวเมืองจะสร้างความเสียหายมหาศาลอย่างที่เคยเกิด เขื่อนห้วยหลวงช่วยป้องกันและบรรเทาอุทกภัยได้อย่างมาก

15 เขื่อนสิรินธร

เขื่อนสิรินธร เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่มีความสำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากจะให้ประโยชน์ทางด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังอำนวยประโยชน์นานัปการต่อการพัฒนา ชีวิตความเป็นอยู่ ของประชาชนในภูมิภาคแถบนี้ทั้งทางด้านการชลประทาน การป้องกันอุทกภัย การประมง และการท่องเที่ยว นับเป็นการสงวนและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ในประเทศให้เกิดประโยชน์ สูงสุดอย่างสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในยุคปัจจุบัน

14. เขื่อนจุฬาภรณ์

เขื่อนจุฬาภรณ์ หรือ เขื่อนน้ำพรม ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ปิดกั้นลำน้ำพรมบนเทือกเขาขุนพาย ลักษณะเขื่อนเป็นเขื่อนหินทิ้ง แกนเป็นดินเหนียว สันเขื่อนยาว 700 เมตร ความสูงจากฐานราก 70 เมตร เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ ใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า การชลประทาน และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด ภายในบริเวณมีบ้านพักรับรองและเรือเช่าล่องชมทิวทัศน์อ่างเก็บน้ำ

13. เขื่อนอุบลรัตน์

เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของประเทศไทย ซึ่งสร้างขึ้นถัดจากเขื่อนภูมิพล และเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ปิดกั้นแม่น้ำพองสาขาย่อยของแม่น้ำชี ตัวเขื่อนเป็นหินถมแกนดินเหนียว ยาว 885 เมตร สูง 32 เมตร สันเขื่อนกว้าง 6 เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุ 2,263 ล้านลูกบาศก์เมตร ผลิตไฟฟ้าได้ 55 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง

12. เขื่อนกิ่วลม

เขื่อนกิ่วลม เป็นเขื่อนในการดูแลของกรมชลประทาน ตั้งห่างจากตัวเมืองไปตามเส้นทางสายลำปาง-งาว ประมาณ 38 กิโลเมตรเศษ แยกซ้ายกิโลเมตรที่ 623 เข้า ไปอีก 14 กิโลเมตร

เขื่อนกิ่วลมขณะก่อสร้างถูกใช้เป็นฉากของเรื่องสั้นชุดชาวเขื่อนโดย มนันยา มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับชีวิตของข้าราชการกรมชลประทานและเหล่าคนงานก่อสร้าง เธอได้รับแรงบันดาลใจในการแต่งจากการติดตามสามีของเธอที่เป็นหนึ่งในข้าราชการควบคุมการก่อสร้าง เรื่องสั้นถูกตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร สตรีสาร และต่อมาได้มีการรวมเล่มเป็นหนังสือ 3 เล่ม ในชื่อ
ชาวเขื่อน
เอ แมน คอลด์ เป๋ง
ลาก่อนกิ่วลม

11. เขื่อนแม่กวง


เขื่อนแม่กวงอุดมธารา


เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นเขื่อนดินถมบดอัดแน่น สูง 68 เมตร สันเขื่อนยาว 610 เมตร สร้างปิดกั้นลำน้ำแม่กวง นอกจากนั้นยังได้ก่อสร้างเขื่อนดินปิดช่องเขาขาดด้านฝั่งขวาสูง 42 เมตร สันเขื่อนยาว 640 เมตร และ เขื่อนดินปิดช่องเขาขาดด้านฝั่งซ้ายอีกแห่งหนึ่งสูง 54 เมตร สันเขื่อนยาว 655 เมตร สามารถเก็บกักน้ำในอ่างด้านเหนือเขื่อนได้ประมาณ 263 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ 186 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก 13 ตำบล ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูนประมาณ 175,000 ไร่
เกิดจากแผนพัฒนางานชลประทานในลุ่มน้ำแม่กวง ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2472 โดยได้ก่อสร้างฝายผาแตก ขึ้นที่ดอยลอง บ้านผาแตก เมื่อ พ.ศ. 2478 ต่อมากรมชลประทานได้ปรับปรุงฝายใหม่ สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกได้ 72,750 ไร่
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรบริเวณที่จะก่อสร้างเขื่อนแม่กวงอุดมธาราแห่งนี้ ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทาน ศึกษาการพัฒนาลำน้ำสาขาของลำน้ำแม่กวง และจัดหาที่ดินทำกินใหม่ให้แก่ราษฎร ซึ่งพื้นที่ทำกินดังกล่าวจะถูกน้ำท่วมหลังการก่อสร้างเขื่อน
คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กรมชลประทานเริ่มงานเบื้องต้น เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 กรมชลประทานจึงได้ขอความช่วยเหลือกู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการศึกษาโครงการออกแบบและก่อสร้าง และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กรมชลประทานก่อสร้างเขื่อนแม่กวงอุดมธาราเมื่อ พ.ศ.2529 งานก่อสร้างตัวเขื่อนและอาคารประกอบจึงได้เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2531 และเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการใน พ.ศ. 2536
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ เขื่อนเก็บกักน้ำโครงการชลประทานแม่กวงให้กับกรมชลประทาน ทรงพระราชทานชื่อ ว่า “ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา” เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538

10. เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล


เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เดิมชื่อว่า เขื่อนแม่งัด ตั้งอยู่บนลำน้ำแม่งัด สาขาแม่น้ำปิง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

ประเภทเขื่อน เขื่อนดิน (Earthfill Dam)
ตัวเขื่อน สร้างปิดกั้นลำน้ำแม่งัด ที่บ้านใหม่ ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ลักษณะเขื่อน เขื่อนแม่งัดเป็นเขื่อนดินถม สูง 59 เมตร ยาว 1,950 เมตร อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ 16 ตารางกิโลเมตร สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 265 ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนแม่งัดเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยกรมชลประทาน การก่อสร้างตัวเขื่อนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2527 ต่อมา กฟผ. ได้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ในปี พ.ศ. 2528 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2528 ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 4,500 กิโลวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 9,000 กิโลวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ 19 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเขื่อนว่า เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2529 และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529

9. เขื่อนสิริกิตต์

เขื่อนสิริกิติ์ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ก่อสร้างโดยกรมชลประทานโดยมีวัตถุประสงค์ด้านชลประทานเป็นหลัก ก่อสร้างขึ้นตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน สร้างปิดกั้นลำน้ำน่าน ที่ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เดิมชื่อ เขื่อนผาซ่อม ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถขนานนามว่า “เขื่อนสิริกิติ์” โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อ ปี 2506 แล้วเสร็จในปี 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนสิริกิติ์ และ โรงไฟฟ้าเมื่อ วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2520

8. เขื่อนภูมิพล

เขื่อนภูมิพล เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย ลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้ง เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2496 แล้วเสร็จทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 เขื่อนนี้เดิมชื่อ เขื่อนยันฮี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อเขื่อนว่า เขื่อนภูมิพล เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2500

เขื่อนภูมิพลสร้างปิดกั้นลำน้ำปิง ที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีรัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154 เมตร ยาว 486 เมตร ความกว้างของสันเขื่อน 6 เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุสูงสุดในอาเซียน และเป็นอันดับ 8 ของโลก [ต้องการแหล่งอ้างอิง]
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2504 การก่อสร้างในระยะแรกประกอบด้วย งานก่อสร้างตัวเขื่อน ระบบส่งไฟฟ้า และอาคารโรงไฟฟ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2507
หน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นมาควบคุมการก่อสร้าง บำรุงรักษาและบริหารงานเขื่อนภูมิพล เมื่อ พ.ศ. 2500 เป็นรัฐวิสาหกิจมีชื่อว่า "การไฟฟ้ายันฮี" ซึ่งต่อมาได้ควบรวมกับรัฐวิสาหกิจ "การลิกไนต์" และ "การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ" เป็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อ พ.ศ. 2511 มีผู้ว่าการคนแรกคือนายเกษม จาติกวณิช

7. เขื่อนทับเสลา

เขื่อนทับเสลา


ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลระบำ จากอำเภอลานสัก ไปตามทางหลวงหมายเลข 3438 เป็นระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร
ตรงหลักกิโลเมตรที่ 47 จะถึงทางแยกเข้าเขื่อนทับเสลา เข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร ก็จะถึงจุดชมวิว
หากมาจากตัวเมืองทางเข้าจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ
เขื่อนทับเสลา เป็นเขื่อนชลประทานขนาดใหญ่ กั้นลำห้วยทับเสลา
ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน
ซึ่งมีทัศนียภาพสวยงาม มีภูเขาสลับซับซ้อนเป็นฉากหลัง
บริเวณตอนใต้ของเขื่อนมีสภาพเป็นป่าเต็งรังและสวนป่าปลูก คนในท้องถิ่นนิยมมาพักผ่อนวันหยุดสุดสัปดาห์
มีร้านค้าสวัสดิการขายอาหารอยู่ 3 - 4 ร้าน

6. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

   เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งอยู่ ณ บ้านหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นเขื่อนดินที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งแม่น้ำป่าสักมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 13 ในจำนวน 25 ลุ่มน้ำของประเทศไทย เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 14,520 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะของลุ่มน้ำแคบเรียวยาว แหล่งต้นน้ำอยู่จังหวัดเลย ลำน้ำมีความยาว 513 กิโลเมตร ไหลผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี และมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยประมาณ 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตร

5. เขื่อนวชิราลงกรณ์

5.  เขื่อนวชิราลงกรณ์
    

เป็นเขื่อนหินถมแห่งแรกของประเทศไทย ที่ดาดผิวหน้าด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งอยู่บนแม่น้ำแควน้อย ในท้องที่ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

ทะเลสาบเหนือเขื่อนเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่กลางขุนเขาสลับซับซ้อนแห่งเทือกเขาตะนาวศรี เกิดจากการสร้างเขื่อนแม่น้ำแควน้อยรอบ ๆ เขื่อนวชิราลงกรณ์ มีสภาพเป็นป่าดิบรกทึบอุดมสมบูรณ์ และเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าหลากชนิด ส่วนใต้ผืนน้ำก็เต็มไปด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำอันทรงคุณค่า เช่น ปลากระสูบ ปลาแรด ปลาชะโด และปลายี่สก เป็นต้น นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาสู่ทะเลสาบเพื่อมาชมทัศนียภาพของทะเลสาบอันกว้างใหญ่ รวมทั้งพักค้างแรมในแพพักหรือรีสอร์ท ริมอ่างเก็บน้ำ

ผืนน้ำกว้างไกลมีความหมายแห่งชีวิตและเรื่องราว เล่าขานตำนานเมืองสังขละบุรีที่เลือนหาย อยู่ใต้ผิวน้ำชั่วนิจนิรันดร์ราวเมืองบาดาล ใครจะเชื่อว่า คราใดเมื่อน้ำลดเมืองบาดาลทั้งเมืองก็ปรากฏให้ทุกคนเห็นหรือใครจะดิ่งดำลงไปก็จะเห็นลวดลายแสนวิจิตรของวิหรแห่งเมืองใต้บาดาล

4. เขื่อนศรีรครินทร์

4. เขื่อนศรีนครินทร์

  เขื่อนศรีนครินทร์ (ชื่อเดิม เขื่อนเจ้าเณร) เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลอง สร้างขึ้น บนแม่น้ำแควใหญ่ บริเวณบ้านเจ้าเณร ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี นับเป็น เขื่อนแห่งที่ 8 ในจำนวน 17 แห่ง ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สร้างขึ้นเพื่อ อำนวยประโยชน์ทางด้านต่างๆ ตลอดจนช่วยพัฒนาชีวิต ความเป็นอยู่ของราษฎร และส่งเสริมให้เป็น แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม
   เป็นเขื่อนประเภทหินถมแกนดินเหนียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสูงจากฐานราก 140 เมตร สันเขื่อนยาว 610 เมตร กว้าง 15 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 419 ตารางกิโลเมตร มีความจุมากเป็นอันดับหนึ่งคือ 17,745 ล้านลูกบาศก์เมตร โรงไฟฟ้าเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 5 เครื่อง เครื่องที่ 1-3 กำลังผลิต เครื่องละ 120,000 กิโลวัตต์ เครื่องที่ 4-5 เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าระบบสูบกลับ กำลังผลิต เครื่องละ 180,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 720,000 กิโลวัตต์ งานก่อสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ เริ่มเมื่อปี 2516 แล้วเสร็จในปี 2523 พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญ พระนามาภิไธยสมเด็จพระศรีนครินทร์ มาขนานนามเขื่อน และเสด็จ พระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2524

3. เขื่อนแก่งกระจาน

3  เขื่อนแก่งกระจาน

     เขื่อนแก่งกระจาน เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ ใช้ประโยชน์ในด้านการชลประทานบริเวณที่ราบ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียง เขื่อนแก่งกระจานสร้างกั้นแม่น้ำเพชร ที่บริเวณเขาเจ้า และเขาไม้รวก กับตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี อยู่ทางด้านเหนือน้ำของเขื่อนเพชรขึ้นไป 27 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2504 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2509 ต่อมา เมื่อความต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้พิจารณาติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เขื่อนแก่งกระจานขนาดกำลังผลิต 19,000 กิโลวัตต์ จำนวน 1 เครื่อง โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2514 แล้วเสร็จและผลิตไฟฟ้าไดั เมื่อเดือนสิงหาคม 2517 น้ำที่ถูกปล่อยเพื่อการชลประทานได้ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 70 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

2. เขื่อนหนองปลาไหล

2  เขื่อนหนองปลาไหล 

       เขื่อนหนองปลาไหล เป็นเขื่อนเพื่อการชลประทานในโครงการชลประทานระยอง แต่เดิมจังหวัดระยองมีแหล่งน้ำหลักๆ คืออ่างเก็บน้ำดอกกราย ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอจึงต้องสร้างอ่างเก็บน้ำซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าในพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งอยู่ห่างจากอ่างเก็บน้ำเดิมไป ๕ กิโลเมตรมีชื่อว่าอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยสร้างกั้นลำห้วยคลองใหญ่หนึ่งในลำห้วยสาขาทางตอนเหนือของแม่น้ำระยอง ตัวอ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ ๒๒.๘๙ ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่รับน้ำฝน ๔๐๘ ตารางกิโลเมตร น้ำทั้งหมดที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำคือน้ำฝนในพื้นที่รับน้ำ เหนืออ่างเก็บน้ำเป็นพื้นที่ราบไม่มีภูเขาไม่มีป่าไม้ ดั้งนั้นปริมาณน้ำในอ่างจึงฝากความหวังไว้กับปริมาณน้ำฝนเพียงอย่างเดียว น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนหนองปลาไหลถูกปล่อยลงสู่คลองชลประทานซึ่งไหลผ่านอำเภอบ้านค่ายผ่านพื้นที่ทำการเกษตรในเขตจังหวัดระยอง ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทานจำนวน ๓๐,๐๐๐ ไร่ นอกจากนี้น้ำอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลยังใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของคนระยอง น้ำส่วนหนึ่งยังใช้เป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาในจังหวัดระยอง โดยการประปาระยอง การประปาบ้านฉาง และยังใช้เป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อการประปาของเมืองพัทยาอีก

1. เขื่อนรัชชประภา

1  เขื่อนรัชชประภา                   

      เขื่อนรัชชประภา หรือที่เรียกกันติดปากว่า กุ้ยหลินเมืองไทย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นที่สุดของอุทยานแห่งชาติเขาสก ทัศนียภาพโดยทั่วไปภายในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนรัชชประภา มีทัศนียภาพที่สวยงามมาก นักท่องเที่ยวทุกคณะที่ไปเห็นล้วนประทับใจ ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาหินปูนที่สูงชันล้อมรอบไปด้วยผืนน้ำที่กว้างใหญ่ ด้วยความลึกของระดับน้ำ กรอปกับสีของตะไคร้น้ำที่อยู่เบื้องล่างทำให้น้ำในเขื่อนมีสีเข้มเหมือนสีมรกต จนนักท่องเที่ยวหลายท่านคิดว่าเป็นน้ำทะเล ลักษณะภูมิประเทศไปคล้ายกับภูมิประเทศที่เมืองกุ้ยหลินประเทศจีน จึงได้ฉายาว่า กุ้ยหลินเมืองไทย นอกจากเขื่อนรัชชประภาจะมีทัศนียภาพที่สวยงามแล้ว พื้นที่รายรอบเขื่อนยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีก เช่น ถ้ำน้ำทะลุ เป็นถ้ำที่มีลำธารไหลผ่านและต้องเดินป่าเข้าไปชม เส้นทางเดินบรรยากาศร่มรื่นระยะทางเดินไม่ไกล เส้นทางไม่ลำบากมาก ถ้ำปะการังก็น่าสนใจและเข้าถึงได้สะดวกไม่ต้องเดินไกลเหมือนถ้ำน้ำทะลุ จุดชมวิวเป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ อยู่บนเขาสูงซึ่งจะต้องเดินป่าไต่ความสูงขึ้นไป จากจุดชมวิว เมื่อมองลงมาจะเห็นเกาะแก่งน้อยใหญ่ที่รายรอบอยู่บริเวณอ่างเก็บ

เขื่อนเก็บน้ำในประเทศไทย

เขื่อนในประเทศไทย
รวมข้อมูลเขื่อนต่างๆ ในประเทศไทย
เขื่อน คือ สิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นเพื่อปิดกั้นทางไหลของน้ำ จุดประสงค์เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อจุดประสงค์ที่ต้องการ เขื่อนมีการก่อสร้างหลายรูปแบบตามความเหมาะสมกับพื้นนั้นๆ และงบประมาณในการก่อสร้าง เช่น เขื่อนคอนกรีต เขื่อนหิน เขื่อนดิน
เขื่อน จำแนกตามวัตถุประสงค์การใช้งานได้แก่
เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้พลังน้ำไปเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก น้ำที่ปล่อยออกจากเขื่อนเป็นผลพลอยได้
เขื่อนชลประทาน เป็นเขื่อนที่กักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อจ่ายน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้งและเพื่อเพิ่มพื้นที่การเกษตรให้กว้างขวาง
เขื่อนเอนกประสงค์ สร้างเพื่อกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรแต่น้ำที่ปล่อยลงสู่ท้ายเขื่อนจะถูกนำไปใช้เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย
ประโยชน์หลักของเขื่อน
1. กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ไม่ให้น้ำที่ได้จากธรรมชาติไหลออกสู่ทะเลโดยเปล่าประโยชน์
2. ชะลอการไหลของน้ำและลดปริมาณน้ำเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม
3. ใช้เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า
4. เพื่อบรรเทาภัยแล้งและเพิ่มพื้นที่การเกษตร
ประโยชน์รองหรือผลพลอยได้ของเขื่อน
1. เพื่อผักดันน้ำเค็มไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้ามาไกลจนเกินไปจนเป็นผลเสียต่อการเกษตร
2. เป็นแหล่งประมงพื้นบ้าน
3. เป็นแหล่งท่องเที่ยวและใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
ปัญหา หรือผลกระทบจากการสร้างเขื่อน
1. สูญเสียพื้นที่ป่า
2. ที่ใดที่สร้างเขื่อน พื้นที่รอบๆ เขื่อนจะถูกบุกรุกเพื่อใช้เป็นพื้นที่การเกษตร
3. ผลกระทบต่อประชากรในพื้นที่ต้องอพยพย้ายที่อยู่ใหม่
ปัญหาจากการบริหารจัดการเขื่อน
ปัญหาหลักคือการบริหารจัดการน้ำที่เกิดจากการประเมินปริมาณฝนผิด วัตถุประสงค์หลักของเขื่อนคือกักเก็บน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่บางครั้งเขื่อนเป็นตัวทำให้น้ำท่วมเสียเอง ปัญหาเกิดจากการกักเก็บน้ำไว้ในปริมาณที่มากในช่วงต้นฤดูฝน เมื่อถึงฝนใหญ่มาถึง หรือช่วงที่พายุเข้าทำให้เขื่อนมีปริมาณการรับน้ำที่น้อยทำให้ต้องปล่อยน้ำทิ้งแข่งกับปริมาณน้ำฝนในธรรมชาติ เป็นผลทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนต้องรับปริมาณน้ำเป็นสองเด้ง ทั้งปริมาณน้ำจากฝนที่เกิดจากพายุ และจากปริมาณน้ำที่เขื่อนปล่อยทิ้งเพื่อป้องกันน้ำล้นเขื่อน ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมหนักในบริเวณพื้นที่ใต้เขื่อน
แต่ในทางกลับกัน การปล่อยน้ำมากเกินไปเพื่อกันพื้นที่เขื่อนไว้รับน้ำ หากถึงเวลาแล้วฝนไม่ตก จนถึงปลายฝนแล้วยังไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เต็มเขื่อนก็จะมีปัญหา ทำให้ไม่มีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง
เขื่อนต่างๆ ในประเทศไทย
เที่ยวในประเทศไทย แยกตามภูมิภาค
เขื่อนภาคใต้
เขื่อนรัชชประภา

เขื่อนภาคตะวันออก
เขื่อนหนองปลาไหล

เขื่อนภาคกลาง
เขื่อนแก่งกระจาน
เขื่อนศรีนครินทร์
เขื่อนวชิราลงกรณ์
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
เขื่อนทับเสลา

เขื่อนภาคเหนือ
เขื่อนภูมิพล
เขื่อนสิริกิตต์
เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล
เขื่อนแม่กวง
เขื่อนกิ่วลม

เขื่อนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เขื่อนอุบลรัตน์
เขื่อนจุฬาภรณ์
เขื่อนสิรินธร
เขื่อนห้วยหลวง